Blog

เทคนิครักษาริดสีดวงแบบเจ็บน้อย
“Radio Frequency Coagulation”

เมื่อพูดถึง “ริดสีดวง” เชื่อว่าสำหรับหลายคนแล้วอาจไม่ใช่เรื่องไกลตัว โดยเฉพาะคนที่มีอาการท้องผูกหรือท้องเสียบ่อย ๆ มักจะมีปัญหาเรื่องของริดสีดวงตามมาอยู่บ่อย ๆ เช่นเดียวกัน

ศ.(พิเศษ) ดร.นพ.อัฑฒ์ หิรัณยากาศ ศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ผอ.คลินิกศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า ริดสีดวงทวารหนัก คือกลุ่มหลอดเลือดบริเวณทวารหนักที่โป่งพอง ซึ่งจัดเป็นอวัยวะของร่างกายมนุษย์ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ริดสีดวงทวารหนักภายใน (internal hemorrhoid) และริดสีดวงทวารหนักภายนอก (external hemorrhoid) โดยทั่วไปริดสีดวงทวารหนักมีหน้าที่ช่วยในการกลั้นอุจจาระและช่วยรับความรู้สึกบริเวณทวาร หนัก ริดสีดวงทวารหนักเองอาจเป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพอันไม่พึงประสงค์ได้ ทั้งนี้ หากมีแรงดันเพิ่มขึ้นบริเวณทวารหนักที่อาจเกิดจากภาวะท้องผูก ท้องเสีย นั่งห้องน้ำนาน ยกของหนัก หรือการตั้งครรภ์

“คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า ริดสีดวง คือโรค แต่จริง ๆ แล้ว ริดสีดวงไม่ใช่โรค แต่เป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกาย มีหน้าที่ในการช่วยกลั้นอุจจาระ และรับประสาทสัมผัสที่ทวารหนัก ถ้าไม่มีริดสีดวง เวลาที่เกิดอาการท้องเสีย จะทำให้กลั้นอุจจาระได้ไม่ดี” คุณหมออัฑฒ์ บอก

ศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก บอกว่า อาการผิดปกติที่เกิดจากริดสีดวงทวารหนักอาจพบได้ตั้งแต่รู้สึกไม่สุขสบายบริเวณทวารหนัก คลำได้ก้อน อาการปวด คัน หรืออาจมีเลือดสดติดกระดาษชำระขณะเช็ดทำความสะอาด พบเลือดในโถส้วม หรือมีเลือดเคลือบอุจจาระ ซึ่งการรักษาริดสีดวงนั้น ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค ที่ผ่านมา หลัก ๆ มีอยู่ 2 วิธี คือ รักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น การแช่ทวารหนักด้วยน้ำสะอาด ทาครีมหรือเหน็บยา การใช้ยางรัด การเย็บเก็บเข้าที่ การฉีดยาหรือรักษาโดยใช้พลังงานความร้อน อย่างเช่นเลเซอร์ เพื่อทำให้ริดสีดวงฝ่อหรือเล็กลงไป กับอีกวิธีคือการรักษาด้วยการผ่าตัด

แต่ปัจจุบัน เทคโนโลยีการรักษาริดสีดวงพัฒนาไปมาก คุณหมออัฑฒ์บอกว่า มีการนำเทคนิค Radio Frequency Coagulation ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ปลอดภัย และ เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการแพทย์ เช่น นำมาใช้เพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักในกลุ่มคนไข้ที่มีปัญหาการกลั้นอุจจาระ ในขณะที่รังสีแพทย์อาจใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อรักษาคนไข้ที่เป็นมะเร็งในตับ มาประยุกต์ใช้ในการรักษาริดสีดวง โดยใช้ยาชาเฉพาะที่ร่วมกับคลื่นความถี่สูง ที่เรียกว่า Radio Frequency หรือ RF จี้ไปที่ก้อนริดสีดวง เพื่อทำให้ก้อนฝ่อลง

การรักษาด้วยวิธีนี้ ไม่ใช่เลเซอร์แต่ทันสมัยกว่าเลเซอร์ การรักษาได้ผลดี คนไข้เจ็บน้อยมากหรือแทบไม่เจ็บเลย ภายหลังการรักษา สามารถกลับบ้านได้โดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล หรือที่เรียกว่า Day Surgery

นอกจากริดสีดวงแล้ว อีกโรคที่ต้องระวังและมีอาการเบื้องต้นคล้าย ๆ กับริดสีดวง ก็คือโรคมะเร็งลำไส้ตรง หรือ rectal cancer ซึ่งเป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายอุจจาระมีเลือดปนคล้ายกับอาการของริดสีดวงมาก หากเป็นมากอาจมีก้อนอุจจาระขนาดเล็กลง ท้องผูก รู้สึกถ่ายอุจจาระไม่สุด อาจมีอาการท้องผูกสลับกับท้องเสีย ปวดท้องน้อย อ่อนเพลีย น้ำหนักลด” นพ.อัฑฒ์ บอก พร้อมกับให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจัยเสี่ยงที่อาจพบได้สำหรับโรคมะเร็งชนิดนี้ อาทิ ความเสี่ยงทางพันธุกรรม อายุมากกว่า 45 ปี หรือมากกว่า 50 ปี โรคอ้วน ชอบรับประทานอาหารมัน เนื้อแดง หรือผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ

การวินิจฉัยโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้นมีความสำคัญมากในการวางแผนการรักษาที่เหมาะสม เช่น ถ้าสังเกตเห็นว่ามีเลือดออกปนมากับอุจจาระ ถ่ายเป็นเลือด ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง ซึ่งโดยทั่วไปแพทย์จะทำการตรวจร่างกายและทวาร หนัก เมื่อพบก้อนเนื้อผิดปกติจะส่งพิสูจน์โดยการตัดชิ้นเนื้อ หากยืนยันว่าเป็นมะเร็ง แพทย์จะประเมินระยะของโรคด้วยภาพถ่ายรังสี และวางแผนการรักษา โดยทีมแพทย์เฉพาะทางสหสาขา ทั้งศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก รังสีแพทย์ แพทย์รังสีรักษา อายุรแพทย์มะเร็ง และพยาธิแพทย์ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า การรักษาโรคมะเร็งลำไส้ตรงด้วยการฉายรังสีร่วมกับการรักษาด้วยเคมีบำบัดอย่างเหมาะสมก่อนการผ่าตัดรักษา จะช่วยลดขนาดของก้อนมะเร็ง และเพิ่มโอกาสในการผ่าตัดรักษามะเร็งลำไส้ตรง ด้วยเทคนิคผ่าตัดแผลเล็กและสามารถเก็บกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก ที่เรียกว่า Sphincter Saving Surgery ได้

สำคัญที่สุด คือการมาพบแพทย์และเข้ารับการตรวจอย่างเหมาะสม จะช่วยให้สามารถแยกแยะได้ระหว่างอาการของริดสีดวงทวารหนัก (hemorrhoid) และมะเร็งลำไส้ตรง (rectal cancer) เพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป